รีวิวหนัง Tag

สีชมพูฟรุ้งฟริ้งและเด็กนักเรียนญี่ปุ่น ที่ปรากฏอยู่บนโปสเตอร์หนังเรื่อง Tag จะเหมือนการยั่วเย้าให้เกิดความรัญจวนชวนฝัน แต่หากเหลือบตามองไปเห็นชื่อผู้กำกับ ซิออน โซโนะ (Suicide Club) ความกระหายทางใจอันหอมหวาน ก็ถูกบิดผันไปทางจิตตกบ้าคลั่ง ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ย้อมโลกสีชมพูสดใส ให้มีนัยยะกลางกลิ่นคาวเลือดได้อย่างน่าสนใจ หนังใหม่

Tag พาไปรู้จักกับ มิตซูโกะ (เรนะ ทรินเดิล) และเพื่อนร่วมชั้นนักเรียนหญิงล้วน ที่กำลังเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง ก่อนจะประสบโศกนาฏกรรมตายหมู่ ที่ถูกโยนใส่ตั้งแต่หนังผ่านไปเพียงไม่กี่นาที แม้จะรอดชีวิตมาได้หวุดหวิด แต่เธอกลับต้องเผชิญหน้ากับเรื่องเหนือโลกที่หาคำอธิบายไม่ได้อีกมากมาย แม้เธอจะอยู่ในตำแหน่งตัวละครนำของเรื่อง แต่เราก็แทบไม่รู้จักเชิงลึกของเธอเลย คนดูมีโอกาสได้เห็นเพียงเด็กสาวที่ถูกสถานการณ์พัดพา ไปในทิศทางเดียวกับการชักนำของเพื่อนสาวร่วมก๊วน ความพิศวงงงงวยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเธอเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อคนดูที่ต้องมโนไปต่างๆ นานาว่าเหตุการณ์เมื่อครู่เป็นเรื่องจริง โลกหลังความตาย หรือภาพสะท้อนสภาวะจิตที่ผิดเพี้ยนของมิตซูโกะกันแน่

ต้องยกความดีความชอบให้กับโซโนะ ทีี่เนรมิตโลกกึ่งจริงกึ่งฝันได้อย่างอยู่มือ อีกทั้งยังสร้างภาพความตาย สะบัดอวัยวะพุ่งกระจาย ด้วยท่าทีสนุกสนานบ้าระห่ำ กึ่งหนังกึ่งการ์ตูน ชวนกระอักกระอ่วนทุกครั้งที่สัมผัสฉากความหรรษาที่ทั้งโหดร้ายเจือตลกร้ายรูปแบบนี้ ซึ่งลายเซ็นของผู้กำกับก็ได้พัฒนาไปอีกระดับ เมื่อ Tag เข้าสู่ช่วงของ เคโกะ (มาริโกะ ชิโนดะ) เจ้าสาวที่กำลังเข้าพิธีแต่งงาน ก่อนทีี่จะผ่านไปสู่ช่วงของนักวิ่งสาว อิซูมิ (เอรินะ มาโนะ) และนำไปสู่การค้นพบว่าทั้ง มิตซูโกะ เคโกะ และอิซูมิ เกี่ยวข้องโยงใยกันแบบใด

แม้หนังจะเคลือบไปด้วยฉากโหดร้าย ที่ไต่ระดับไปถึงความบ้าบอคอแตกมากมาย แต่โซโนะก็ยังคงแก่นสำคัญไว้อย่างมั่นคงแข็งแรง Tag เป็นภาพสะท้อนสถานะทางสังคมของผู้หญิงในญี่ปุ่น ได้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมและแฝงสไตล์จัดจ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของผู้กำกับ ทำให้ตัวละครหลักทั้งสามกลายเป็นวัตถุทางเพศที่ถูกกระทำย่ำยีตามใจปรารถนา

นับตั้งแต่ช่วงแรกที่โซโนะหยิบจับภาพลักษณ์ของนักเรียนมัธยมญี่ปุ่น ซึ่งถูกใช้เป็นวัตถุทางเพศอันดับต้นๆ มาถ่ายทอดผ่านตัวของมิตซูโกะที่พบเจอความบ้าบอสารพัด ตั้งแต่ลมมรณะที่คร่าชีวิตเพื่อนร่วมชั้น ที่หลายต่อหลายครั้งถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองให้คนดูสวมบทเป็นลมมรณะที่ตามไล่จี้มิตซูโกะเสียเอง ชีวิตหลังจากนั้นในโรงเรียนหญิงล้วนดูสวยงามดังเกิดใหม่ คนดูอย่างเราๆ ได้พบคลื่นมหาชนของนักเรียนสาวกระโปรงสั้น ที่โซโนะจงใจใส่ฉากวับๆ แหวมๆ ทะลึ่งตึงตังไปตลอดเส้นทาง ก่อนจะดีกรีความรุนแรงจะพุ่งทะยานสุดขีดคลั่ง จากจินตนาการถึงจระเข้ในบึง ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มิตซูโกะทำได้เพียงใส่เกียร์หมา วิ่งหนีจากปัญหาที่พยายามครอบงำเธอ โดยไม่มีสิทธิแม้แต่จะขัดขิน หรือเรียกร้องความเป็นธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

มิใช่เพียงอายุที่เพิ่มขึ้นจากส่วนแรก ตัวละครหลักของ Tag มีพัฒนาการทางความคิดอย่างเห็นได้ชัด โซโนะยังคงรักษาจังหวะเรื่องราวชวนเหวอได้ดี เคโกะนำเสนอภาพของเพศหญิงที่ไม่ยอมตกเป็นเบื้องล่างของบุรุษ (ที่ปรากฏตัวในรูปลักษณ์หิวกระหาย ชวนสะอิดสะเอียน) ก่อนที่อิซูมิจะลุกขึ้นต่อต้านไม่เพียงแค่อำนาจทางเพศ แต่เป็นระบบสังคมที่ครอบงำและตราหน้าเพศแม่อย่างเธอด้วย

ในขณะที่โลกเหนือจริงทั้งสาม คล้ายจะบรรจบกันอย่างสมบูรณ์ Tag ก็เฉลยความจริงทั้งมวลที่หักหน้าคนดูครั้งใหญ่ เมื่อโลกอีกหนึ่งใบได้แสดงแสนยานุภาพของมัน และยิ่งเน้นย้ำถึงการตัดสินใจอันนำไปสู่การปลดแอกจากการเป็นวัตถุทางเพศของผู้หญิง ได้อย่างชวนเหวอจนถึงนาทีสุดท้ายของหนัง ที่ทั้งมิตซูโกะ เคโกะ และอิซูมิ ได้เคาะกบาลบุรุษเพศ ให้คิดมองตัวเองสักครั้ง ว่ากำลังลุ่มหลงนวลนางในความเพ้อฝัน ในจินตนาการ จนเลยเถิดเผลอแสดงพฤติกรรมย่ำยีมากเกินไปอยู่หรือเปล่า

Comments

Popular posts from this blog

รีวิวหนัง Where We Belong

รีวิวหนัง : THE NUN

รีวิวหนัง : Afterlife of the Party (2021) อาฟเตอร์ไลฟ์ ออฟ เดอะ ปาร์ตี้